หากย้อนกลับไปสมัย PSP ช่วงนั้นก็ถือว่ามีเกมที่ยอดเยี่ยมอยู่หลายเกมด้วยกัน ทั้ง Final Fantasy, God of War, Monster Hunter และอีกมากมาย แต่ก็ยังมีเกมอยู่แนวหนึ่งที่ถูกมองข้ามจากเกมเมอร์กลุ่มสายหลักไปอย่างน่าเสียดาย นั่นคือ
เกมแนวดนตรี หรือ
Rhythm Game นั่นเอง เนื่องจากตัวเกมมีรูปแบบเกมเพลย์ที่ค่อนข้างต้องใข้ประสาทสัมผัสในการเล่นที่สูงในระดับหนึ่ง ประกอบกับไม่ค่อยมีสื่อเกมในบ้านเรานำเสนอข่าวกันเท่าไหร่ ทำให้หลายคนอาจไม่ได้ให้ความสนใจหรือไม่รู้จัก วันนี้เราเลยรวบรวม 5 เกมแนวดนตรีคุณภาพเยี่ยมบนเครื่อง PSP มาให้รู้จักกัน ถ้าพร้อมแล้วตามมาเลย
DJMAX Portable (Series)
ตำนานซีรี่ส์เกมดนตรีบนเครื่อง PSP ที่บอกได้เลยว่าถ้าหากนึกถึงเกมแนวนี้บน PSP ละก็ จะต้องมีชื่อของเกมซีรี่ส์นี้ออกมาก่อนเป็นอันดับแรกอย่างแน่นอน เนื่องจากตัวเกมมีชาร์ตเพลงที่สนุกเร้าใจและท้าทายผู้เล่นระดับฮาร์ดคอร์ (โดยเฉพาะภาค Black Square ที่เป็นภาคปราบเซียนสุดๆ) และเพลงในเกมก็มีหลากหลายแนวและเป็นเอกลักษณ์ต่างแตกจากเกมอื่นๆ ในแนวเดียวกัน รูปแบบการเล่นก็จะคล้ายกับเกมแนวนี้ทั่วไปที่ให้กดปุ่มตามตัวโน้ตที่หล่นลงมาให้ตรงกับเส้นกำกับจังหวะด้านล่าง โดยจะมีจำนวนปุ่มให้เลือกเล่นได้ตามแต่ที่ผู้เล่นต้องการจะเลือกคือ 4 ปุ่ม ถึง 8 ปุ่ม (ภาค Clazziquai Edition มี 2 ปุ่มด้วยนะ) จุดเด่นของเกมนี้คือมีการทำมิวสิควิดีโอประกอบระหว่างการเล่นเป็นภาพ Animation อย่างสวยงาม และยังช่วยให้ผู้เล่นเข้าถึงอารมณ์ของเพลงได้มากยิ่งขึ้น ทำให้ได้รับความนิยมอย่างสูงทั่วโลกทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ที่สำคัญเกมนี้ถ้าเล่นเก่งๆ จะรู้สึกเหมือนนิ้วเราลอยได้เลยล่ะ
แมคคานิคที่ทำให้เกมนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและสร้างความแตกต่างจากเกมอื่นอย่างเห็นได้ชัด นั้นคือระบบ Fever ครับ โดยตั้งแต่ภาค 2 ขึ้นไป ในระหว่างเล่นผู้เล่นจะสะสมเกจ Fever จากการกดตัวโน้ตได้ถูกต้อง เมื่อเต็มจะสามารถกดใช้งานได้ด้วยปุ่ม X ซึ่งผลของ Fever นั้นจะทำหน้าที่ทวีคูณคอมโบไปเรื่อยๆ ในห้วงเวลาหนึ่ง (ประมาณ 10 วินาที) นอกจากนั้นหากผู้เล่นเก็บเกจ Fever จนเต็มและกดใช้อีกครั้งก่อนที่เวลา Fever จะหมดลง คอมโบจะทวีคูณขึ้นไปอีก สูงสุดที่ x5 แต่ถ้ากดพลาดในระหว่างที่ Fever แสดงผลอยู่ จะทำให้ระยะเวลาแสดงผลลดลง หรืออาจทำให้เวลาหมดทันทีเลยก็ได้เช่นกัน
อีกสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับเกมนี้มาอย่างยาวนาน (และเรียกได้ว่าน่าจะเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเกมนี้เลย) นั่นก็คือระบบป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ของเกมนี้ครับ โดยในตัวเกมตั้งแต่ภาค 2 เป็นต้นมาทางทีมพัฒนาได้แอบใส่ระบบป้องกันละเมิดลิขสิทธิ์เข้าไปในเกม โดยถ้าหากตรวจพบว่าตัวเกมไม่ได้ถูกรันผ่านแผ่น UMD แท้ละก็... เมื่อเล่นไปได้ประมาณสัก 2-3 เพลง ก็จะเกิดอาการบั๊กคือ ภาพในเกมจะเริ่มกระพริบเป็นสีดำๆ และเสียงก็จะเริ่มบิดเบี้ยวจนเล่นต่อไม่ได้อีกเลยเนื่องจากภาพกระพริบจนกลายเป็นสีดำสนิททั้งจอ แต่สุดท้ายก็ยังคงถูกแก้ทางได้ด้วยการลงไฟล์ Patch เพื่อแก้อาการดังกล่าวได้อยู่ดี
โดยในปัจจุบันตัวเกมนี้ยังคงมีชีวิตอยู่กับภาคล่าสุด DJMAX Respect ลงให้กับเครื่อง PS4 และ PC (Steam) ครับ
รายชื่อเกมทั้งหมดในซีรี่ส์นี้ (นับเฉพาะบน PSP)
- DJMAX Portable
- DJMAX Portable 2
- DJMAX Portable: Clazziquai Edition
- DJMAX Portable: Black Square
- DJMAX Fever (รวมเพลงจากภาค 1 และ 2 ของโซน US)
- DJMAX Portable: Hot Tunes (รวมเพลงจากภาค 1 และ 2 ของโซน JP)
- DJMAX Portable 3
จุดเด่น
• ชาร์ตเพลงที่สนุกเร้าใจและมีความท้าทาย กดมันทุกเพลง
• เพลงมีหลากหลายแนว เพลงเพราะหลายเพลง
• เลือกจำนวนปุ่มที่ใช้เล่นได้ต้องการ (ยกเว้นในโหมด Mission และ Club Tour)
• มีไอเทมให้เลือกตกแต่งได้หลากหลายแบบ (รูปตัวละคร, หน้าจอตอนเล่น หรือ "เกียร์", ตัวโน้ต)
• ระบบ Fever ที่สร้างความแตกต่างจากเกมอื่นๆ ในแนวเดียวกัน
• ปั๊มคอมโบได้ต่อเนื่องแบบเพลงต่อเพลงในโหมด Freestyle (แต่ถ้าออกก็หายหมดนะ ยกเว้นภาค 3)
• มิวสิควิดีโอประกอบเพลงและงานภาพสวยงาม
• สามารถเล่นแข่งกับเพื่อนได้ 2 คนในบางภาค
ข้อสังเกตุ
• ชาร์ตเพลงหลายเพลงยากเกินไปสำหรับมือใหม่ โดยเฉพาะภาคแรกกับ Black Square
• มีบั๊กเล็กน้อยในบางภาค (ช่วงที่เปิดเกมใหม่ๆ กด Fever ขึ้น x2 แต่ไม่ติด, โหมด Link Disc ในภาค Black Square กดตัวโน้ตถูกแล้วแต่ไม่มีเอฟเฟคแสดงขึ้นมา ฯลฯ)
• ภาค 3 เน้นการ Griding (อัพ Level เพื่อปลดล็อคเพลงและไอเทม) มากเกินไปจนดูน่าเบื่อ
• มีการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง (คนที่เพิ่งเริ่มเล่นซีรี่ส์นี้และไม่รู้วิธีแก้ไข ก็จะคิดว่ามันเป็นบั๊กชนิดหนึ่ง)
Hatsune Miku: Project DIVA (Series)
จากความนิยมของ DJMAX ไม่น่าแปลกที่จะมีคนพยายามทำเกมดนตรีบน PSP ออกมาแข่งด้วย นั่นคือ Project DIVA นั่นเอง เปิดตัวบน PSP และบนเกมตู้ โดยรูปแบบการเล่นเกมนี้ก็ถือว่าก็มีความแปลกใหม่เป็นอย่างมาก โดยเกมเพลย์จะคล้ายๆ กับเอา Osu! Tatakae! Ouendan (NDS) มาทำเป็นแบบใช้ปุ่มกดแทนทัชสกรีนนั่นเอง คือผู้เล่นต้องกดตัวโน้ตตามปุ่มที่ปรากฏขึ้นตามจุดต่างๆ บนหน้าจอ โดยโน้ตจะเลื่อนมาจากขอบจอแล้วลอยเข้าหาปุ่ม โดยผู้เล่นต้องกดปุ่มให้ตรงกับจังหวะที่ตัวโน้ตลอยมาชนกับปุ่มนั้นๆ พอดี แน่นอนว่าจุดเด่นคือเพลงในเกมที่มีแต่เพลงจากโวคัลลอยด์ล้วนๆ มีมิวสิควิดีโอประกอบระหว่างการเล่นที่สวยงามเช่นกัน แต่จะเป็นภาพกราฟิก 3D เต็มรูปแบบ ไม่ใช่คลิปวิดีโอแต่อย่างใด (แต่นั่นก็ทำให้ในตัวเกมภาคแรกเกิดอาการ "กระตุก" หนักมากเช่นกัน...) และมีชาร์ตเพลงที่หัดเล่นได้ง่ายกว่า DJMAX มาก ต่างกับ DJMAX ที่เพลงส่วนใหญ่มีแต่ชาร์ตยากๆ ซึ่งต้องอาศัยทักษะในการเล่นค่อนข้างสูงกว่า Project DIVA พอสมควร ประกอบกับช่วงหลังๆ DJMAX เริ่มติดระบบป้องกันเล่นเถื่อนมาแบบหนาแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้กลายเป็นว่าในช่วงหลัง Project DIVA เลยได้รับความนิยมสูงกว่า DJMAX อย่างเห็นได้ชัดครับ จนเกิดเป็นกระแสที่หลายๆ คนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "เป็นเกมที่คนมีเครื่อง PSP ต้องเล่น" เลยทีเดียว เรียกได้ว่าต่อให้ไม่ใช่แฟนโวคัลลอยด์ก็น่าจะเคยผ่านมากันมาบ้างแน่นอนสำหรับเกมนี้ ที่สำคัญเรายังสามารถเลือกเปลี่ยนชุดแต่งตัวให้กับตัวละครของเราได้ตามต้องการอีกด้วย หรือจะเลือกใช้ตัวละครไม่ตรงกับเพลงก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีระบบแต่งบ้านและโหมด Edit ที่เปิดโอกาสให้เราได้สร้างสรรค์เพลงของเราเองได้อีกด้วย หรือจะโหลดที่คนอื่นสร้างมาเล่นก็ได้เช่นกัน
รายชื่อเกมทั้งหมดในซีรี่ส์นี้ (นับเฉพาะบน PSP)
- Hatsune Miku: Project DIVA
- Hatsune Miku: Project DIVA 2nd
- Hatsune Miku: Project DIVA Extend
จุดเด่น
• ชาร์ตเพลงที่หัดเล่นได้ง่าย (ในระดับ Easy และ Normal)
• ชุดแต่งตัวละครมากมายหลากหลายสไตล์
• มิวสิควิดีโอประกอบเพลงสวยงาม
• สามารถ Mix & Match ตัวละครในมิวสิควิดีโอแต่ละเพลงได้อย่างอิสระ (เอาตัวผู้ชายมาลิปซิ้งเพลงผู้หญิงร้อง หรือผู้หญิงลิปซิ้งเพลงผู้ชายร้องก็ได้ !)
• มีระบบไอเทมตัวช่วย ไว้ช่วยในการผ่านเพลงยากๆ (แต่จะไม่สามารถเซฟคะแนนได้)
• มีระบบบ้านไว้ฟังเพลงเพลินๆ และสามารถตกแต่งห้องได้
• มีโหมด Edit ที่สามารถสร้างเพลงเล่นเองได้ หรือจะโหลดที่คนอื่นสร้างมาเล่นก็ได้
ข้อสังเกตุ
• ภาคแรกยัง Optimize มาไม่ดี (กระตุกมากๆ ในหลายฉาก แม้จะตั้ง CPU Clock Game เป็น 333 Mhz แล้วก็ตาม)
• ภาคแรกไม่มี Auto Save
• ตัวเกมเน้นการ Griding (ฟาร์มเงินเพิ่มซื้อของปลดล็อค) ในระดับหนึ่ง
• ผู้เล่นระดับฮาร์ดคอร์อาจไม่ถูกใจชาร์ตเพลงในเกมนี้ ที่ส่วนใหญ่จังหวะจะตามเสียงร้องมากกว่าเครื่องดนตรี
• เล่นต่อเนื่องนานๆ อาจรู้สึกตาลายได้ (เพราะต้องมองตัวโน้ตที่ปรากฏมาแทบจะทั่วทั้งจอ)
Gitaroo Man Lives!
เมื่อพูดถึง "เกมกีตาร์" เชื่อเลยว่าหลายคนคงนึกถึงเกมซีรี่ส์ในตำนานอย่าง Guitar Hero ที่มีอุปกรณ์เสริมเป็นจอยกีตาร์และจอยกลองให้เชื่อมต่อเข้ากับเครื่องเล่นเกมอย่างแน่นอน แต่จริงๆ แล้วก็มีอยู่เกมนึงที่ออกแบบมาให้เล่นกีตาร์ได้ด้วยจอยธรรมดาของเราเลย นั่นก็คือ Gitaroo Man ครับ ซึ่งจริงๆ แล้วเกมนี้เคยลงบนเครื่อง PS2 มาก่อนแล้วครับ แถมยังมีออกมาก่อน Guitar Hero อีกด้วย (ออกในปี 2001 ส่วน GH ออกปี 2005) ที่สำคัญเกมนี้มีเนื้อเรื่องให้ติดตามด้วยครับ ซึ่งถือว่าหาได้ยากยิ่งในเกมแนวนี้ที่ส่วนใหญ่จะมีเพียงการเข้าไปเลือกเล่นเพลงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยเราจะรับบทเป็นเด็กหนุ่มที่ได้รับพลังพิเศษจากน้องหมา (เหมือน Pochacco เลยอ่ะ) ทำให้เรากลายเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ Gitaroo Man โดยเราต้องต่อสู้กับศัตรูด้วยการกดตามจังหวะคอร์ดกีตาร์ในเกม โดยลักษณะการเล่นในหนึ่งเพลงจะแบ่งออกเป็นช่วงต่างๆ คือ Charge, Attack, และ Guard ท่อน Charge ผู้เล่นต้องโยกอนาล็อคตามทิศทางของเส้นที่วิ่งเข้ามาหาจุดกำกับจังหวะตรงกลางจอ พร้อมกับกดปุ่ม O ตามจังหวะของตัวโน้ตที่ไหลมาตามเส้น หากกดได้ถูกต้องจะเป็นการฟื้นฟูพลังชีวิตของเราไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสุดท่อน ท่อน Attack จะเหมือนกับท่อน Charge ทุกประการ เพียงแต่เปลี่ยนจากการเติมเลือดของเรามาเป็นการโจมตีสร้างความเสียหายให้กับคู่ต่อสู้แทน ท่อน Guard ผู้เล่นต้องกดตามสัญลักษณ์ของปุ่มต่างๆ ที่วิ่งเข้ามาจากทิศต่างๆ ทั้งสี่ทิศทาง เพื่อเป็นการต้านพลังโจมตีของคู่ต่อสู้ หากกดพลาดหรือกดไม่ทันพลังชีวิตของเราจะถูกลดลง และท่อน Harmony จะปรากฏออกมาในช่วงท้ายเพลง ลักษณะเหมือนกับท่อน Attack ทุกประการ เพียงแต่พลังชีวิตของเราจะไม่ถูกลดลงเมื่อกดพลาด และในท่อนนี้จะมีความยาวมากกว่าปกติ ด้านเพลงประกอบเกมนี้ก็จัดว่ายอดเยี่ยมไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเพลง The Legendary Theme ที่มีความไพเราะจนติดหูตั้งแต่ที่ได้ฟังครั้งแรก จนถูกนำมาแกะคอร์ดเพื่อเล่น Cover แบบอัดคลิปลง Youtube กันมากมายเลยทีเดียว เป็นอีกหนึ่งเกมที่ห้ามพลาดจริงๆ สำหรับคนมี PSP
The Legendary Theme หนึ่งในเพลงที่หลายคนชื่นชอบ (เพราะมากๆ ขอบอก)
จุดเด่น
• เนื้อเรื่องสนุกน่าติดตาม
• รูปแบบการเล่นแปลกใหม่เป็นเอกลักษณ์ และมีความท้าทาย
• เพลงมีหลากหลายแนว เพลงเพราะหลายเพลง
• การเล่นจะเป็นแบบผ่านด่านไปเรื่อยๆ (ไม่มีรายชื่อเพลงให้เลือกแบบเกมอื่นๆ)
• สามารถเลือกเล่นกับบอทในโหมด Multiplayer ได้ด้วย (เหมาะสำหรับคนที่อยากลองเล่น Duet Mode แต่ไม่มีเพื่อนเล่นด้วย)
ข้อสังเกตุ
• เพลงมีน้อยมาก หากเทียบกับหลายเกม (เกมทั่วไปจะอยู่ระหว่างราว 40-80 เพลง)
• ต้องอาศัยทักษะการตอบสนองที่รวดเร็วในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะช่วงที่สลับระหว่างท่อน Attack กับ Guard
• ถึงแม้จะเล่นกับบอทในโหมด Multiplayer แต่ก็จำเป็นต้องเปิด WLAN เอาไว้ตลอด
The Idolmaster Shiny Festa
Honey Sound / Groovy Tune / Funky Note
ภาคต่อของเกมจัดการไอดอลชื่อดังจากค่าย Bandai Namco ซึ่งภาคนี้ถือได้ว่าเป็นเกมแรกในซีรี่ส์ที่เปลี่ยนมาเป็นแนวกดจังหวะแบบเพียวๆ ไม่ต้องมาคอยดูแลเหล่าไอดอลในสังกัดให้วุ่นวายอีกต่อไป เพื่อเอาใจเกมเมอร์สาย Casual มากยิ่งขึ้น โดยตัวเกมนี้จะมีแยกออกเป็น 3 เวอร์ชั่นคือ Honey Sound, Groovy Tune, และ Funky Note ซึ่งในแต่ละเวอร์ชั่นจะมีความแตกต่างในส่วนของสมาชิกวง อนิเมะเนื้อเรื่องตอนเริ่มเกม และเพลงพิเศษประจำยูนิตหรือเวอร์ชั่นนั้นๆ แน่นอนว่าหน้าที่ของเราในภาคนี้มีเพียงแค่การกดปุ่มตามจังหวะดนตรีเท่านั้น ไม่มีในส่วนของการปั้นตัวไอดอลแบบภาคก่อนๆ เรียกได้ว่าลดทอนความซับซ้อนในการเล่นลงไปได้เยอะเลยทีเดียวครับ ซึ่งในภายหลังรูปแบบเกมดนตรีเพียวๆ นี้ก็ได้ถูกนำมาใช้กับภาค "สตางค์ไหลสเตจ" (Starlight Stage) บนมือถือด้วยนั่นเอง ตัวเกมจะแบ่งออกเป็น 2 โหมดหลักๆ คือ Stage กับ Star of Festa (SOF) ในส่วนของโหมด Stage จะเป็นโหมดการเล่นแบบปกติเหมือนกับเกมแนวนี้ทั่วไป ในโหมดนี้ทุกครั้งเมื่อเล่นจบเพลงตัวไอดอลจะได้รับค่าความประทับใจที่เป็นไอคอนรูปหัวใจ ซึ่งค่านี้จะถูกนำไปใช้เป็นตัวเร่งคะแนนโหวตในโหมด Star of Festa อีกที ส่วน Star of Festa จะเป็นโหมดเนื้อเรื่อง ซึ่งผู้เล่นจะต้องเลือกเพลงมา 3 เพลง แล้วเล่นแบบต่อเนื่องไปทีละเพลงจนครบ โดยในเพลงสุดท้ายผู้เล่นจะต้องแข่งกับวงไอดอลฝ่ายตรงข้ามอีกด้วย เป้าหมายของโหมดนี้คือผู้เล่นต้องสะสม "คะแนนโหวต" ที่ได้รับระหว่างการแสดงในโหมดนี้ให้ครบ 100,000 คะแนนภายใน 5 วัน โดยการเข้าเล่นในโหมดนี้หนึ่งครั้งจะนับเป็น 1 วันในเกม เมื่อครบ 5 วันหากทำคะแนนเป้าหมายได้สำเร็จก็จะได้พบกับฉากจบของเกม ในส่วนรูปแบบเกมเพลย์จะมีความคล้ายคลึงกับ Gitaroo Man ต่างกันแค่ไม่ต้องโยกอนาล็อคตามเส้นเท่านั้นเอง นอกจากนี้หากผู้เล่นสามารถต่อคอมโบได้โดยไม่พลาดเลยจนเกจ Sparkle เต็ม จะมีตัวโน้ตรูปดาวออกมา หากกดได้จะเข้าสู่โหมด Shining Burst ทำให้ได้รับคะแนนพิเศษเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ และยังทำให้ภาพมิวสิคคลิปในเกมเปลี่ยนไปอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีระบบการซื้อไอเทม ซึ่งภายในร้านค้าจะแยกหมวดหมู่ไอเทมประเภทต่างๆอย่างชัดเจน เช่น ไอเทมตัวช่วยระหว่างเล่น สกินตัวโน้ตสวยๆ เพิ่มขีดจำกัดการสะสมหัวใจ ฯลฯ
จุดเด่น
• รูปแบบการเล่นแปลกใหม่เป็นเอกลักษณ์ และมีความท้าทาย
• มิวสิควิดีโอประกอบเพลงและงานภาพสวยงาม
• เล่นง่ายไม่ต้องคิดมาก เพราะไม่มีการปั้นตัวไอดอล
ข้อสังเกตุ
• เพลงมีน้อยมาก หากเทียบกับหลายเกม (เกมทั่วไปจะอยู่ระหว่างราว 40-80 เพลง)
• เพลงพิเศษจะแยกไปตามเวอร์ชั่นประจำยูนิตนั้นๆ (ถ้าอยากเล่นให้ครบทุกเพลง ก็ต้องซื้อให้ครบทั้ง 3 เวอร์ชั่นนะ !)
• ตัวเกมเน้นการ Griding ในระดับหนึ่ง
• เช่นเดียวกับ Project DIVA เล่นต่อเนื่องนานๆ อาจรู้สึกตาลายได้ (เพราะต้องมองตัวโน้ตที่ปรากฏมาแทบจะทั่วทั้งจอ)
K-On! Houkago Live!!
ปิดท้ายกันที่เกมจากการ์ตูนดังที่อาจเรียกได้ว่าเป็นลูกพี่ลูกน้องของเรื่อง Lucky Star เลยก็ว่าได้ เนื่องจากทั้ง K-On! และ Lucky Star ในต้นฉบับมังงะต่างก็เป็นการ์ตูนสี่ช่องเหมือนกัน ตัวละครหลักก็เป็นนักเรียนหญิงล้วนเหมือนกัน แถมฉบับอนิเมะก็ผลิดโดยค่าย Kyoto Animation เหมือนกันอีกด้วย *0* (อะไรจะบังเอิญขนาดนี้) ต่างกันแค่ธีมหลักของเรื่องเท่านั้นที่ไม่เหมือนกัน โดยภายในเกมนี้จะใช้รูปแบบเกมเพลย์คล้ายกับ DJMAX Technika ที่เป็นตู้เกมทัชสกรีนครับ คือจะมีเส้นสแกนวิ่งจากซ้ายไปขวา เมื่อสุดทางก็จะวนกลับมาที่จุดเริ่ม และวนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ โดยผู้เล่นต้องกดคีย์ให้ตรงตามตำแหน่งตัวโน้ตเมื่อเส้นเคลื่อนที่ผ่าน ถ้าเคยเล่น DJMAX Technika มาแล้ว เกมนี้ก็ไม่ยากเลยละ อีกสิ่งที่เจ๋งมากๆ คือการเล่น Multiplayer แบบตั้งวงเล่นได้สูงสุดถึง 5 คน ! นอกจากนี้ยังมีระบบไอเทมตัวช่วย ระบบเปลี่ยนชุดตัวละคร ระบบตกแต่งห้อง และโหมดแต่งเพลง ซึ่งก็ดึงมาจาก Project DIVA โดยตรง เพราะมันเป็นเกมจากค่ายเดียวกันนั่นเอง
ตัวเกมได้ถูกรีมาสเตอร์ลงเครื่อง PS3 ในปี 2012 และมีภาคต่อออกมาอีก 2 ภาค ในปี 2013 และ 2014 ตามลำดับ เฉพาะบนระบบตู้เกมอาเคดเท่านั้น
ปล. โน้ตตัวสีเหลืองที่ปรากฏตอนเริ่มหรือจบเพลง ให้กด O นะ! (คล้ายกับตัวโน้ตตอนเริ่มเพลงใน DJMAX Portable: Black Square "TRY YOUR ABILITY, DO IT!")
จุดเด่น
• เพลงเพราะหลายเพลง
• มีระบบ Tutorial แนะนำระบบและโหมดต่างๆ ที่ถูกปลดล็อคออกมาอย่างละเอียด
• ถึงแม้จะไม่เคยดูฉบับการ์ตูนมาก่อน แต่ก็ยังเล่นได้สนุก (เผลอๆ อาจจะรู้สึกสนใจ จนอยากไปหาการ์ตูนมาดูเลยก็ได้)
• สามารถตั้งวงดนตรีเล่นกับเพื่อนได้ถึง 5 คน
• มีระบบไอเทมตัวช่วย ไว้ช่วยในการผ่านเพลงยากๆ หรือช่วยเร่งคะแนน (ขึ้นอยู่กับชนิดของไอเทม)
• มีระบบเปลี่ยนชุดตัวละคร และสามารถตกแต่งห้องได้
• มีโหมด Edit ที่สามารถสร้างเพลงเล่นเองได้ หรือจะโหลดที่คนอื่นสร้างมาเล่นก็ได้
• มีนาฬิกาปลุกในตัว
ข้อสังเกตุ
• เพลงมีน้อยมาก หากเทียบกับหลายเกม (มีแค่ 19 เพลงเท่านั้น ในขณะที่เกมอื่นจะอยู่ระหว่างราว 40-80 เพลง)
• ไม่มีแทบพลังชีวิตแสดงให้เห็น ทั้งที่หากกดพลาดบ่อยๆ ก็ Game Over ได้เหมือนกัน
• ระบบตกแต่งห้อง ของบางชิ้นหากเลือกตัวละครผิด ตัวละครจะปฏิเสธการวางไอเทมชิ้นนั้น
ที่จริงแอดมินอยากจะเขียนรีวิวต่ออีก 4 เกม (รวมเป็น 9 เกม) แต่เกรงว่าบทความจะยาวเกินไป เลยขอแนะนำเกมที่เหลือแบบฉบับย่อแทนแล้วกันนะครับผม
•
Beats - เลือกไฟล์เพลงในเมมมาเล่นได้ ! (ที่จริงแอดมินกะจะรีวิวเกมนี้เป็นเกมที่ 6 ด้วยนะ แต่ตัวเกมมีบ๊ักค่อนข้างเยอะ (ไฟล์เพลงบางไฟล์เล่นไม่ได้ ทั้งที่สามารถฟังใน Music player ของ PSP ได้, บางเพลงเล่นอยู่ดีๆ ก็ขึ้น Error แล้วหลุดออกมาหน้าเลือกเพลง, ฯลฯ) เลยเอามาไว้ใน List นี้แทนแล้วกัน)
•
Taiko no Tatsujin Portable 1, 2 และ DX - เกมตีกลองญี่ปุ่น จากเกมตู้สุดฮิต ที่เล่นได้ทุกคน
•
Pop'n Music Portable 1 และ 2 *แนะนำ!* - อีกหนึ่งเกมที่พอร์ตมาจากเกมตู้ เกมเพลย์ใกล้เคียงกับ DJMAX Portable แต่มีชาร์ตเพลงที่ค่อนข้างง่ายกว่ามาก ประมาณว่าเพลงระดับ 10-15 ของ Pop'n Music มันเท่ากับระดับ 1-2 ของ DJMAX เลยครับ! ...อ่อ! ภาคแรกมีตัวที่คล้ายๆ Cinnamoroll ของ Sanrio ด้วยนะ (อยู่ในเพลง FU-FA ต้องปลดล็อคจาก Adventure Mode ก่อนนะครับ)
Roco*Moco หนึ่งในตัวละครของ Pop'n Music Portable 1 ที่ได้แรงบันดาลใจ(อย่างแรง)มาจาก
Cinnamoroll
•
Rock Band Unplugged - เกมแนวดนตรีคู่แข่งตลอดกาลของ Guitar Hero ซึ่งภาคนี้มีวิธีเล่นที่ค่อนข้างแปลกหน่อย คือต้องคอยสลับไปมาระหว่างเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นด้วย (เล่นคล้ายกับ Frequency และ Amplitude ใน PS2)
ขอบคุณรูปภาพบางส่วนจาก: Wikipedia |
Giant Bomb
หน้านี้แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2563