16 มกราคม 2564

รู้จักกับ Pop'n Music ตำนานซีรี่ส์เกมดนตรีสุดน่ารักจาก BEMANI ที่โลกลืม

หากจะให้พูดถึงเกมแนวดนตรีบนเครื่องเล่นเกมอาร์เคดล่ะก็ เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงเกมสุดฮิตขวัญใจคนไทยอย่าง Maimai, Danz Base, และ Pump It Up เป็นแน่แท้ แต่มีอยู่เกมนึงที่โด่งดังมากๆ ในประเทศญี่ปุ่นไม่แพ้เกมอย่าง Beatmania IIDX เลย แต่ในบ้านเรากลับไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจเท่าไหร่นัก ทั้งที่เป็นเกมจาก Bemani เหมือนกัน เกริ่นมาขนาดนี้หลายคนคงรู้แล้วว่าเป็นเกมอะไร วันนี้แอดมินเอจะพามารู้จักกับเกมกดตามจังหวะเพลงบนเครื่องอาร์เคดที่โลกลืมอย่าง Pop'n Music กันครับ


เกม Pop'n Music (ญี่ปุ่น: ポップンミュージック) (อ่านว่า "ป๊อปปินมิวสิก") เป็นเกมแนวดนตรีสัญชาติญี่ปุ่นจากสตูดิโอ Bemani ของบริษัท Konami วางจำหน่ายให้กับเครื่องเกม Arcade และ PS1 ตั้งแต่สมัยปี ค.ศ. 1998 โดยรูปแบบการเล่นจะเหมือนกับเกมรุ่นพี่ร่วมค่ายอย่าง Beatmania คือการปุ่มหลากสีขนาดใหญ่ กลมๆ ทั้ง 9 ปุ่ม ให้ตรงกับตัวโน้ต "ป๊อปคุง" ที่เลื่อนลงมาให้ตรงจังหวะเพลง ซึ่งจุดเด่นของเกมนี้คือภาพกราฟิกภายในเกมที่ดูน่ารักมากๆ รวมไปถึงแนวของเพลงภายในเกมมีความหลากหลายมากกว่า Beatmania (จะออกแนวคล้ายๆ เพลงในเกม DJMAX และ EZ2DJ) แถมยังมีตัวละครให้เลือกเล่นเป็นจำนวนมากนับร้อยๆ ตัว!! ซึ่งแต่ละคนก็ล้วนมีประวัติความเป็นมา และเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป แทบไม่ต่างจากตัวละครในการ์ตูนอนิเมะเลยครับ โดยมี Mimi กับ Nyami เป็นตัวเอกประจำเกมซีรี่ส์นี้นั่นเอง


ภาพตัวอย่างเครื่องรุ่นต่างๆ

ด้านโหมดการเล่นในเกมนี้จะคล้ายกับเกมแนวดนตรีบนตู้อาร์เคดทั่วไป คือ มีโหมด Normal ที่เป็นการเลือกเพลงเล่นแบบธรรมดา และโหมด Battle เล่นแข่งทำคะแนนกับเพื่อนโดยแบ่งออกเป็นฝั่งละ 3 ปุ่ม นอกจากนี้ในภาคเก่าบางภาคยังมีโหมด Expert ที่เลือกคอร์สเพลงแล้วเล่นต่อเนื่องยาวไปโดยไม่ต้องวนกลับมาเลือกทีละเพลงอีก โหมด Taisen (対戦) เล่นแข่งกับบอทอีก 2 ตัว และยังมีโหมดแปลกๆ อย่าง Osusume ที่ระบบจะเลือกคอร์สเพลงมาให้ตามคำตอบที่เราเลือก (ภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น) นอกจากนี้ยังสามารถเลือกจำนวนปุ่มที่ต้องการเล่นได้ระหว่าง 5 ปุ่ม และ 9 ปุ่ม อีกด้วย (ภาคหลังๆ บังคับเล่น 9 ปุ่มเท่านั้นแล้ว)



แต่ละเพลงจะแบ่งระดับความยากแบ่งเป็น Easy (ง่าย), Normal (ปานกลาง), Hyper (ยาก), และ EX (บ้าคลั่ง) โดยจำนวนเลเวลของเพลงง่ายสุดคือระดับ 1 จนถึงยากสุดที่ระดับ 50 นอกจากนี้ ถ้าหากเบื่อหน่ายต่อการเล่นเกมแบบเดิมๆ หรือต้องการเพิ่มความตื่นเต้นมากขึ้น ผู้เล่นสามารถเปิดใช้งานฟังชั่น "โอจามา" (オジャマ หรือ お邪魔) เพื่อเพิ่มอุปสรรคการเล่นได้สูงสุด 2 อย่าง เช่น ให้ตัวละครประจำเพลงขึ้นมาเต้นบังเลนโน้ต, โน้ตกลับหัว, โน้ตโยกเยกไปมา, โน้ตกระพริบ, หรือทำให้เลนโน้ตแคบลง เรียกได้ว่าต้องแยกประสาทสัมผัสสุดๆ และเกมนี้มีเสียง Keysound ที่กดโน้ตแล้วออกมาเป็นเสียงเพลงจริงๆ ไม่ใช่เสียงเคาะจังหวะทั่วไป (ยกเว้นเพลงลิขสิทธิ์บางเพลงที่ไม่มี Keysound ....เช่นเดียวกับ DJMAX Respect)

ระดับความแม่นของโน้ตจะมี Cool, Great, Good, และ Bad ถ้าหากกดติด Cool หมายความว่าผู้เล่นกดโน้ตได้แม่นยำ แต่หากกดไม่แม่นก็จะปรากฏเป็น Great หรือ Good ซึ่งคะแนนจะลดลงตามลำดับ หรือหากกดพลาด เกมจะขึ้นว่า Bad และทำการนับ Combo ใหม่ทันที

จุดเด่นอีกอย่างของเกมนี้คือ ความยากในการกดปุ่มให้ตรงจังหวะเพลง เห็นภาพแบ๊วๆ แบบนี้ก็เถอะ แต่ระวังอย่าให้ความแบ๊วมาหลอกได้ เพราะด้วยจำนวนปุ่มที่มากถึง 9 ปุ่ม ประกอบกับความยากของชาร์ตเพลงในระดับ Hyper และ EX (โดยเฉพาะระดับ 40 ขึ้นไป) ทำให้เกมนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเกมแนวดนตรีที่ "ยากที่สุดในโลก" เกมหนึ่งเลยก็ว่าได้ครับ และเนื่องจากพื้นที่ของตัวคอนโทรลเลอร์ที่มีขนาดกว้างมาก ทำให้เป็นอีกเกมที่สามารถเล่นในรูปแบบ Co-op ชวนเพื่อนๆ มาร่วมด้วยช่วยกันตบได้ด้วยนั่นเอง หากคิดว่าเพลงหรือชาร์ตไหนเล่นคนเดียวแล้วมันยากเกินไป



ด้วยความนิยมและจุดขายอันเป็นเอกลักษณ์ของ Pop'n Music ทำให้มันมีภาคต่อออกมาอีกมากมายทั้งบนเกมตู้และเครื่องคอนโซล แต่ว่าน่าเสียดายที่เวอร์ชั่นคอนโซลหยุดอยู่แค่ภาค Portable 2 (16 PARTY) บนเครื่อง PSP ในปี 2011 เท่านั้น อันเนื่องมาจากปัญหาด้านค่าลิขสิทธิ์เพลงที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปีนั่นเอง (ลิขสิทธิ์เพลงของเวอร์ชั่นอาร์เคดกับคอนโซล ต้องซื้อแยกกันต่างหาก) ต่างกับเวอร์ชั่นอาร์เคดที่ยังคงมีภาคต่อมาจนถึงปัจจุบัน


ตัวอย่างโหมดเนื้อเรื่องในภาค PSP

จนในที่สุดก็มาถึงจุดเปลี่ยนของซีรี่ส์ เพราะในปี 2014 ทาง Konami ได้ตัดสนใจยกเครื่องสลัดภาพลักษณ์ใสๆ กลายเป็นเกมสไตล์วัยรุ่นแบบเต็มตัว กับ Pop'n Music Lapistoria ซึ่งนับตั้งแต่ภาคนี้เป็นต้นไปได้มีการปรับเปลี่ยนลายเส้นตัวละครใหม่ทั้งหมด กลายเป็นสไตล์อนิเมะแบบเต็มตัว สัดส่วนดูสมจริงขึ้น (ดูคล้ายเรื่อง My Hero Academia มากๆ) จากเดิมที่เป็นตัวละครแบบ SD น่ารักๆ ตัวเตี้ยๆ หน้ากลมๆ ตาแบ๊วๆ รวมไปถึงเพลงลิขสิทธิ์ที่เน้นเพลงจากอนิเมะกระแสปัจจุบันมากขึ้น (มีเพลงจาก Vocaloid กับ Touhou ด้วยนะ) ต่างกับภาคก่อนๆ ที่เพลงลิขสิทธิ์ส่วนใหญ่จะมาจากอนิเมะเรื่องเก่าๆ ระดับตำนานยุค 80-90 ไม่ก็เพลงจากอนิเมะสำหรับเด็กซะส่วนใหญ่ เพื่อลบภาพจำของเกมที่ว่า "Pop'n Music คือ Beatmania IIDX สำหรับเด็ก" นั่นเองครับ


แต่ดูเหมือนว่าการเปลี่ยนภาพลักษณ์โฉมใหม่ในครั้งนี้จะสร้างความช้ำใจให้แก่แฟนเกมหลายคน จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักแบบเสียงไปในทางเดียวกัน อันเนื่องจากดีไซน์ตัวละครดู "สมจริงจนคล้ายการ์ตูนสายโชเน็ง" มากเกินไป ส่งผลลัพธ์ทำให้สูญเสียเอกลักษณ์ดั้งเดิมอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งขัดกับเกมภาคก่อนๆ ที่มีความน่ารักฉบับการ์ตูนมากกว่านี้ จนในที่สุดทาง Konami ก็ยอมรับฟังความเห็นแฟนๆ ด้วยการปรับดีไซน์ตัวละครกลับมาเป็นรูปแบบดั้งเดิมในเกมภาค Pop'n Music Peace (2018) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว (แต่เกียวผมด้านข้างของ Mimi กับ Nyami ก็ยังอยู่เหมือนเดิมนะ)


สำหรับปัจจุบันนี้ Pop'n Music ก็ยังคงมีภาคต่อมาจนถึงปัจจุบัน และถึงแม้ในปัจจุบันนี้จำนวนผู้เล่นจะเทียบไม่ได้จากในสมัยเก่า แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่มีพอสมควร

รายชื่อเกมทั้งหมดฉบับ Arcade
- pop'n music (1998)
- pop'n music 2 (1999)
- pop'n music 3 (1999)
- pop'n music 4 (2000)
- pop'n music 5 (2000)
- pop'n music 6 (2001)
- pop'n music 7 (2001)
- pop'n music 8 (2002)
- pop'n music 9 (2002)
- pop'n music 10 (2003)
- pop'n music 11 (2004)
- pop'n music 12 Iroha (2004)
- pop'n music 13 Carnival (2005)
- pop'n music 14 FEVER! (2006)
- pop'n music 15 ADVENTURE (2007)
- pop'n music 16 PARTY♪ (2008)
- pop'n music 17 THE MOVIE (2009)
- pop'n music 18 Sengoku Retsuden (2010)
- pop'n music 19 TUNE STREET (2010)
- pop'n music 20 fantasia (2011)
- pop'n music Sunny Park (2012)
- pop'n music Lapistoria (2014)
- pop'n music éclale (2015)
- pop'n music: Usagi to Neko to Shōnen no Yume (2016)
- pop'n music peace (2018)
- pop'n music Kaimei Riddles (2020)
- pop'n music UniLab (2022)

รายชื่อเกมทั้งหมดฉบับ Console (นับเฉพาะภาคหลัก)

PS1
- pop'n music (1999)
- pop'n music 2 (1999)
- pop'n music 3 (2000)
- pop'n music 4 (2000)
- pop'n music 5 (2001)
- pop'n music 6 (2002)

PS2
- pop'n music 7 (2002)
- pop'n music 8 (2003)
- pop'n music 9 (2004)
- pop'n music 10 (2004)
- pop'n music 11 (2005)
- pop'n music 12 Iroha (2006)
- pop'n music 13 Carnival (2006)
- pop'n music 14 FEVER! (2007)

PSP
- pop'n music portable [15 ADVENTURE] (2010)
- pop'n music portable 2 [16 PARTY♪] (2011)

ผู้ที่สนใจอยากหาเล่นตู้เกมนี้ในบ้านเรา เท่าที่ผมหาข้อมูลมาได้พบว่ามีเปิดให้บริการเพียงที่เดียวในประเทศไทยเท่านั้นคือที่ห้าง MBK Center (มาบุญครอง) ค่าเล่นครั้งละ 30 บาท เล่นได้สูงสุด 3 เพลงต่อรอบ (ปล. ก่อนหน้านี้แอดเคยเจอตู้ที่แฟชั่นไอส์แลนด์ด้วยนะ แต่ปัจจุบันถูกนำออกไปแล้ว เพราะคนเล่นน้อย) หรือใครจะลองหาเวอร์ชั่นคอนโซลบน PS1, PS2, และ PSP มาเล่นดูแทนก็ได้ครับ



Tips
• pop'n music 18 Sengoku Retsuden เป็นเกมภาคแรกที่ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในประเทศไทย แต่ยังไม่รองรับบัตรบันทึกข้อมูล e-amusement pass
• ส่วนภาคที่รองรับบัตร e-amusement pass อย่างเป็นทางการในประเทศไทยเป็นภาคแรกคือ pop'n music éclale โดยเปิดทดสอบ Location Test ในงาน JAPAN EXPO 2016 ณ ห้าง Siam Paragon วันที่ 12-14 กุมภาพันธ์ 2559

Fun Fact: เชื่อว่าเกมเมอร์ชาวไทยหลายคนคงเข้าใจมาตลอดว่า Mimi กับ Nyami นั้น เป็นพี่น้องฝาแฝดกัน ซึ่งความจริงแล้วทั้งคู่ไม่ได้เป็นพี่น้องกันนะ แค่บังเอิญหน้าตาคล้ายกันเฉยๆ ต่างหากละครับ (*^-^*)




หน้านี้แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567

5 มกราคม 2564

Success เปิดหน้าเว็บไซต์ฉลองครบรอบ 30 ปีของเกมซีรี่ส์ Cotton แล้ว


Success ได้ฤกษ์งามยามดี ทำการเปิดหน้าเว็บไซต์ฉลองครบรอบ 30 ปีของเกมซีรี่ส์ Cotton เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยภายในได้เปิดเผยข้อมูลว่ากำลังจะมีเกมภาคต่อภายในปี 2021 นี้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังได้เผยรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเกมภาคแรกที่ไปลงให้กับเครื่อง Astro City Mini และภาค Reboot ที่ได้ประกาศวันวางจำหน่ายไปก่อนหน้านี้แล้วอีกด้วย

ท่านสามารถเข้าชมหน้าเว็บไซต์ได้ที่นี่
https://cotton30th.success-corp.co.jp/


ที่มา: Gematsu

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

【นอกเรื่อง】

ถ้าเกิดเกม Cotton ภาคต่อเป็นแนว Rail shooter อยากให้ทำเป็นสไตล์คล้ายๆ เกม Sin & Punishment: Star Successor (Wii) คือควบคุมตัวละครกับศูนย์เล็งแยกกัน และมีจำนวนศัตรูบนจอเยอะๆ กับฉากอลังๆ ด้วย สุดยอดจริงๆ องค์ประกอบเกมนี้ ใครไม่เคยเล่น ลองหามาเล่นเลยครับ เจ้าเดียวกับ Ikaruga (แถมเสียงเอฟเฟคบางอย่างยังคล้ายกันด้วยนะ โดยเฉพาะเสียงระเบิด)