6 มีนาคม 2563

7 ความแตกต่างของเกมยานยิงในยุคเก่ากับยุคปัจจุบัน

สวัสดีครับ แอดมินเอครับผม ' w')/

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป อะไรหลายๆ อย่างก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ในแต่ละยุค เช่นเดียวกันเกมแนวยานยิงที่ปัจจุบันยังคงมีการวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งรูปแบบการเล่นและวิธีการนำเสนอ เพื่อไม่ให้ดูจำเจจนเกินไปนัก ทางแอดมินบล๊อกจึงขอเสนอบทความ "7 ความแตกต่างของเกมยานยิงในยุคเก่ากับยุคปัจจุบัน" มาดูกันว่าตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เกมแนวนี้มีวิวัฒนาการเป็นอย่างไรกันบ้าง


1.
ยุคเก่า - กระสุนศัตรูไม่เยอะ แต่พุ่งมาไว
ยุคปัจจุบัน - กระสุนศัตรูท่วมจอ แต่มาช้า

ในสมัยก่อนเทคโนโลยีด้านฮาร์ดแวร์ยังมีข้อจำกัด ทำให้ทางผู้พัฒนาเกมยังไม่สามารถออกแบบเกมโดยการใส่ศัตรูหรือกระสุนลงไปในฉากได้พร้อมกันจำนวนมากแบบในเกมยานยิงสมัยนี้ ทำให้การออกแบบความยากในเกมยานยิงยุคเก่านั้นจึงเน้นที่ลักษณะการเคลื่อนไหวของศัตรู และการโจมตีที่มีความรวดเร็ว เพื่อกลบจุดด้อยทางฮาร์ดแวร์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีเริ่มได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา ทำให้ทีมพัฒนาบางส่วนกล้าที่จะออกแบบความยากโดยการใส่กระสุนศัตรูจำนวนมากลงไปในฉาก เพื่อเพิ่มความท้าทายในการเล่นขั้นสุด และในขณะเดียวกันก็ยังช่วยเพิ่มความสวยงามของ "ดงกระสุน" ให้กับผู้ที่รับชมการเล่นได้อีกด้วย ใครที่ยังนึกภาพไม่ออก ให้ลองไปหาเกม Anniversary Collection: Arcade Classics กับเกม Touhou ภาคหลักมาเล่นดูครับ แล้วท่านจะเข้าใจความแตกต่างในข้อนี้ได้เป็นอย่างดีเลย


2.
ยุคเก่า - ปุ่มยิงต้องกดย้ำๆ เหมือนเกมแนวไฟท์ติ้ง
ยุคปัจจุบัน - ปุ่มยิงกดค้างได้เลย รัวยิงให้เองอัตโนมัติ

ในเกมยานยิงสมัยก่อน ผู้เล่นจำเป็นต้องกดปุ่มยิงย้ำๆ ไปเรื่อยๆ เพื่อทำการโจมตี ยังไม่สามารถกดค้างยาวๆ ได้แบบเกมยานยิงในสมัยนี้ ซึ่งผู้เล่นจะต้องรัวปุ่มแบบนี้ไปจนกว่าจะจบด่าน(หรือจบเกม)เลยทีเดียว ทำให้เกมเมอร์บางคนเกิดอาการนิ้วบวมจนเคยเป็นข่าวใหญ่โตมาแล้วในยุคนั้น ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เกิดจอยรุ่นใหม่ที่มีปุ่มพิเศษที่เรียกว่า "ปุ่มเทอร์โบ" เพื่อมาแก้ปัญหาให้กับผู้ที่ชื่นชมการเล่นเกมแนวนี้โดยเฉพาะ แต่พอเข้าสู่ยุคของเครื่อง Super Famicom/SNES ก็ทำให้จอยชนิดนี้เริ่มหมดความนิยมไป เนื่องจากทางผู้พัฒนาบางส่วนได้เริ่มใส่ระบบ Autofire มาให้ในเกมตามฟิดแบคของเกมเมอร์นั่นเอง (ที่จริงในปัจจุบันก็ยังมีเกมใหม่ๆ บางเกม ยังให้รัวปุ่มยิงเอาเองอยู่นะ แต่น้อยเกมมาก)


3.
ยุคเก่า - ระบบเกมเน้นที่การทำคะแนนเป็นหลัก และไม่มีความแปลกใหม่
ยุคปัจจุบัน - ระบบเกมเน้นที่แมคคานิคอันแปลกใหม่ เพื่อสร้างความแตกต่าง

สืบเนื่องจากข้อจำกัดทางฮาร์ดแวร์ในข้อแรก ทำให้เกมยานยิงยุคเก่านั้นจะมีแนวทางการเล่นที่แทบไม่แตกต่างกันมากนักในแต่ละเกม คือเน้นที่การเล่นเก็บคะแนนให้ได้มากที่สุดเป็นหลัก ไม่มีเนื้อหาหรือระบบอะไรที่ซับซ้อนไปมากกว่านั้น แต่ในปัจจุบันผู้พัฒนาเกมแนวนี้เริ่มคิดค้นระบบภายในหรือแมคคานิคให้มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเพื่อสร้างความแตกต่าง ถึงแม้รากฐานโดยรวมจะเป็นเกมยานยิงเหมือนกันก็ตาม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคงต้องยกให้กับซีรี่ส์เกมสุดท้าทายของสายยานยิงอย่าง Touhou ภาคหลักบน PC ที่ในแต่ละภาคจะมีการออกแบบระบบและแมคคานิคที่แทบจะไม่ซ้ำกันเลย ทำให้การเล่นในแต่ละภาคมันสามารถให้อารมณ์ที่แตกต่างกันได้ดีมาก ใครที่ยังคิดอยู่ว่า "เกมยานยิงสมัยนี้เกมเพลย์มันก็แทบไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากเมื่อก่อนนั่นแหละ" ผมแนะนำให้ลองไปหาเกมแนวนี้(ที่ไม่ใช่เกมเก่าเอามารีฯใหม่)บน Steam หรือ Nintendo Switch มาเล่นดูสัก 2-3 เกมครับ แล้วความคิดเดิมๆ ของท่านที่มีต่อเกมแนวนี้จะเปลี่ยนไปตลอดกาล

4.
ยุคเก่า - เกมส่วนใหญ่ตายแล้วเริ่มใหม่ที่จุดเกิด
ยุคปัจจุบัน - เกมส่วนใหญ่ตายแล้วเกิดใหม่ที่เดิมได้ทันที

เกมยานยิงในยุคแรกๆ ส่วนมากแทบทุกเกมจะเป็นระบบเกมแบบ "ตายแล้วย้อนกลับไปเริ่มใหม่ที่ Checkpoint" แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ก็เริ่มมีเสียงเรียกร้องจากเหล่าเกมเมอร์มากขึ้น เนื่องจากมีผู้เล่นหลายคนที่ "เกิด-ตาย-วนเวียน" อยู่ที่จุดเดิมซ้ำๆ จนทำให้ไม่สามารถเล่นต่อไปได้จบ ทำให้ผู้พัฒนาเกมในยุคหลังๆ เริ่มใจอ่อนยอมเปลี่ยนไปใช้ระบบใหม่ที่เรียกว่า "Instant Respawn" เมื่อผู้เล่นตายแล้วจะสามารถเกิดจากจุดที่ตายได้ทันที โดยไม่ต้องย้อนกลับไปหา Checkpoint อีกต่อไป แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงมีเกมใหม่บางเกมที่ยังใช้ระบบ Checkpoint อยู่ เนื่องจากเป็นระบบที่ช่วยเพิ่มความท้าทายในการเล่นอีกทางหนึ่ง เพราะมันก็เหมือนกับเป็นการกดดันให้เกมเมอร์ต้องระวังตัวมากขึ้น เพื่อไม่ให้ถูกยิงร่วงแล้วย้อนกลับไปเริ่มใหม่นั่นเอง


R-Type หนึ่งในซีรี่ส์เกมแนวยานยิงที่ยากที่สุดซีรี่ส์หนึ่ง ด้วยรูปแบบการเล่นแบบ "เกิด-ตาย-วนเวียน"

5.
ยุคเก่า - ไม่เน้นเนื้อเรื่องมาก
ยุคปัจจุบัน - ดำเนินเนื้อเรื่องเป็นเรื่องเป็นราว

เช่นเดียวกับเกมเก่าๆ หลายเกมในยุคนั้น ที่เนื้อเรื่องจะยังคงเป็นแบบเรียบง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อน (หรือบางเกมก็ไม่มีเนื้อเรื่องเลย) แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เกมแนวนี้เองก็เริ่มพัฒนาและปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ด้วยการใส่ฉากคัทซีนเข้าไปตอนต้นเกมเพื่อให้ผู้เล่นพอทราบเรื่องราวแบบคร่าวๆ และเมื่อเล่นไปจนจบเกมก็จะได้พบกับบทสรุปเรื่องราวของเกมนั้น ทำให้ตัวเกมมีความน่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะเกมที่มีฉากจบตามตัวละครที่เลือกเล่น เช่น Sonic Wings/Aero Fighters หรือ Gunbird/Mobile Light Force ที่เราสามารถกลับมาเล่นใหม่และเลือกเล่นตัวละครอื่นๆ เพื่อเห็นฉากจบที่แตกต่างออกไปได้อีกด้วย นอกจากนี้ก็มีบางเกมที่เน้นเนื้อเรื่องมากๆ แบบว่ามีฉากคัทซีนให้ติดตามตลอดทั้งเกมเลย เช่นเกมซีรี่ส์ Cotton เป็นต้น


Cotton: Fantastic Night Dreams เป็นเกมแนวยานยิงตัวแรกๆ ที่มีคัทซีนเนื้อเรื่องให้ติดตามตลอดการเล่น

6.
ยุคเก่า - มีไอเทมเสริมพลังให้เก็บ
ยุคปัจจุบัน - เกมส่วนใหญ่พลังเต็ม Max ตั้งแต่ต้น

แมคคานิคอีกอยากหนึ่งที่ทำให้เกมแนวนี้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากๆ ก็คือระบบการเก็บไอเทม Power-up ที่ลอยออกมาจากตัวศัตรูเพื่อเสริมพลังการยิงครับ ซึ่งก็ให้ผลหลากหลายแบบขึ้นอยู่กับกติกาของแต่ละเกม เช่น เก็บแล้วยิงแรงขึ้น รัศมีกระสุนกว้างขึ้น เพิ่มลูกคู่ช่วยยิง (Option) หรือเปลี่ยนรูปแบบการยิงกระสุนเป็นต้น แต่ทว่า หลายเกมในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่จะตัดระบบนี้ออกไป คือ เมื่อเริ่มเกมมาด่านแรกระดับพลังยิงของยานก็เต็มทันที เหตุผลเนื่องจากทางทีมพัฒนาต้องการให้ผู้เล่นโฟกัสกับการหลบกระสุนนั่นเอง และยังช่วยให้เล่นได้ง่ายขึ้นอีกด้วย กล่าวคือ หากผู้เล่นถูกยิงร่วง เมื่อเกิดมาใหม่ ระดับพลังของยานก็ยังคงเต็มอยู่เหมือนเดิม ซึ่งต่างจากเกมยุคเก่าที่ถ้าหากพลาดท่าถูกยิงร่วง ก็คือพลังทุกอย่างหายหมดทันที (แต่บางเกมก็ใจดี ปล่อย Power-up จำนวนหนึ่งออกมาหลังตาย เพื่อให้ผู้เล่นสามารถกู้คืนพลังบางส่วนได้อยู่) ส่วนตัวอย่างเกมใหม่ในยุคปัจจุบันที่ยังคงใช้ระบบนี้ก็มี Raiden V, Devil Engine, Rigid Force Alpha/Redux, Horgihugh หรือแม้กระทั้ง Touhou ภาคหลักตัวล่าสุด ก็ยังคงใช้ระบบนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ภาคสอง


Devil Engine คือหนึ่งในเกมยานยิงยุคใหม่จำนวนน้อยที่ยังคงใช้ระบบไอเทม Power-up อยู่

7.
ยุคเก่า - เน้นแข่งทำคะแนนกับสถิติตัวเอง(หรือตู้เกม)
ยุคปัจจุบัน - เน้นแข่งทำคะแนนแบบออนไลน์

ระบบเกมในยุคก่อน(โดยเฉพาะเกมตู้)เมื่อเราเล่นจบแต่ละตา ไม่ว่าจะเล่นไปจนถึงฉากจบ หรือตัวหมดจน Game Over ระหว่างทางก่อนก็ตาม จะมีระบบที่ให้ผู้เล่นฝากชื่อไว้กับตัวเกม เพื่อโชว์คะแนนสูงสุดที่ผู้เล่นคนนั้นทำได้ในหน้าตารางอันดับ ไว้อวดเพื่อนหรือคนที่เดินผ่านไปมาหน้าตู้เกมนั้นๆ ให้อิจฉากันเล่นๆ จนทำให้เกิดการแข่งขันขนาดย่อมตามร้านเกมเซ็นเตอร์ต่างๆ ตามมา ประมาณว่า ในหนึ่งเหรียญนั้นใครจะไปได้ไกลที่สุด หรือใครจะได้อันดับสูงกว่า แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป รูปแบบการเล่นเกมและวิถีชีวิตก็เปลี่ยนไปเช่นกัน โดยเฉพาะการมาของสมาร์ทโฟนที่ทำให้เข้าถึงเกมต่างๆ ได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงเทคโนโลยีเกมคอนโซลในยุคปัจจุบันที่สามารถแสดงผลกราฟิกได้ดีกว่าสมัยก่อนแบบก้าวกระโดด ทำให้เกมเมอร์บางส่วนเลิกเข้าเกมเซ็นเตอร์ตามห้าง เนื่องจากความสะดวกสบายที่น้อยกว่า แถมยังสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายต่างๆ อีกด้วย เมื่อทางทีมพัฒนาเกมเล็งเห็นจุดด้อยนี้ จึงได้คิดค้นระบบที่เรียกว่า "Online Leaderboards" ขึ้นมาเพื่อให้เกมเมอร์ที่เล่นเกมอยู่กับบ้านสามารถฝากชื่อและคะแนนของตัวเองลงตารางอันดับได้ตลอดเวลาผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะเปลี่ยนจากการวัดคะแนนกันแค่เฉพาะภายในร้าน มาเป็นการวัดคะแนนกับคนทั้งโลกแทนนั่นเอง เรียกได้ว่า ถ้าเกมเมอร์อยากรู้ว่าตอนนี้ใครเล่นเก่งที่สุดในโลก ก็ลองเข้ามาส่อง Leaderboard ได้เลย แต่ก็มีบางเกมที่ระบบ Leaderboard ถูกพัฒนาให้ดูมีความแอ๊ดวานซ์ขึ้นมาหน่อย คือ มีการแสดงอันดับให้เห็นแบบเรียลไทม์ระหว่างเล่นกันเลย เช่น Raiden V, Psyvariar Delta หรือบรรดาเกมเก่าที่พอร์ตมาลงคอนโซล(เท่านั้น)เจนปัจจุบันโดยค่าย M2 อย่าง Battle Garegga, ESP Ra.De., ฯลฯ เป็นต้น
 

ขอบคุณรูปภาพจาก: Gaming History | Gematsu | likegiftshop.com