11 มิถุนายน 2563

ความแตกต่างระหว่างเกมยานยิงจากฝั่งญี่ปุ่นและตะวันตก

หลายท่านอาจจะยังไม่เคยสังเกตหรือทราบมาก่อนว่าในเกมแนว Shoot 'em up / Shmup หรือเกมยานยิงนั้นก็มีความแตกต่างในด้านการออกแบบและพัฒนาระหว่างเกมจากฝั่งญี่ปุ่นและตะวันตกด้วย ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่าความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมนั่นเอง เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ในบทความนี้เราจึงขอยกเกมจากทั้งสองฝั่งมาเปรียบเทียบกัน (ในที่นี้ผมจะพูดถึงแค่เฉพาะเกมยานยิงบน PC และคอนโซลเท่านั้นนะครับ)

Shmup จากฝั่งญี่ปุ่น
อย่างเช่น Raiden, Strikers 1945, Touhou Project, DoDonPachi, Gradius, R-Type‎

ในส่วนของเกมแนว Shmup จากฝั่งญี่ปุ่นนั้นส่วนมากก็จะเป็นเกมที่มีคอนเทนต์ภายในเกม หรือแม้แต่เกมเพลย์ก็จะออกไปในแนวทางที่คล้ายๆ กัน เกมพวกนี้ทั้งเกมฟอร์มใหญ่และอินดี้ส่วนมากจะเป็นเกมที่มีคุณภาพสูง และมีฐานผู้เล่นที่เยอะมาก เพราะเกมพวกนี้ส่วนมากมักจะมีระดับความยากค่อนข้างสูง และมีการปล่อยภาคต่อหรือออกเป็นเกมใหม่มาอยู่เรื่อยๆ รวมไปถึงการออกแบบระบบแมคคานิคที่มีความซับซ้อน การปลดล็อคคอนเทนต์ หรือการแข่งขันเก็บคะแนน เพื่อทำให้สามารถเล่นซ้ำได้เรื่อยๆ ครับ

โดยรูปแบบเกมของ Shmup จากฝั่งญี่ปุ่นนั้นจะเน้นไปที่การเล่นเก็บคะแนนเป็นหลักครับ โดยทุกๆ เกมจะมีความยาวที่สั้นมากเพียงแค่ 5-6 ด่านเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดใช้เวลาในการเล่นแค่ 30-45 นาที และเมื่อเล่นไปจนจบเมื่อไร ตัวเกมที่แท้จริงก็เพิ่งจะเริ่มตอนนั้นล่ะครับ โดยเราจะได้เข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า Score Attack อย่างแท้จริง เนื่องจากในแต่ละเกมนั้น จะออกแบบระบบการคิดคะแนนมาได้มีความละเอียดและซับซ้อนมาก ชนิดที่ว่ากลับมาเล่นซ้ำกี่รอบแต่ท่านก็แทบจะไม่มีทางได้คะแนนหลังจบเกมซ้ำกันเลยล่ะ ซึ่งผู้เล่นจำเป็นต้องมั่นฝึกฝนทุกวันเพื่อเห็นผลลัพธ์ในการทำคะแนนที่ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพื่อไปแข่งขันไต่อันดับใน Leaderboard ของเกมนั่นเอง

Shmup จากฝั่งตะวันตก
อย่างเช่น Sine Mora, Jamestown, Sturmwind, Sky Force, Pawarumi, Rigid Force Alpha/Redux

มาต่อกับเกม Shmup จากฝั่งตะวันตก ซึ่งในต่างประเทศนั้นบางที่เขาจะเรียกว่า "Euro Shmup" ในส่วนของตัวเกมนั้นจะเน้นไปที่เนื้อเรื่องและเกมเพลย์ที่เข้าถึงง่าย และในบางเกมจะมีกราฟิกที่สวยงามสมจริงตามสไตล์ของเกมฝรั่ง ถึงแม้ว่าจะมี Competitive Content อยู่บ้าง แต่ก็ไม่โดดเด่นมากนัก

โดยรูปแบบเกมของ Shmup จากฝั่งตะวันตกนั้นจะเน้นที่เกมเพลย์ที่เข้าใจได้ง่าย แมคคานิคไม่มีความซับซ้อน ทำให้สามารถเรียนรู้ระบบต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และความยากจะอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยในหลายๆ เกมส่วนมากมักจะมีความยาวของเกมที่ค่อนข้างยาวพอควร ประมาณมากกว่า 10 ด่านขึ้นไป และใช้เวลาในการเล่นรวมไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง ส่วนระบบการคิดคะแนนก็จะเป็นแบบเรียบง่ายไม่มีความละเอียดและซับซ้อนมากเท่ากับเกมยานยิงของญี่ปุ่น แต่ในช่วงหลังๆ เราจะเห็นเกมยานยิงฝรั่งที่มีความยาวสั้นลงเท่ากับเกมของญี่ปุ่น แต่ก็ยังเน้นที่เนื้อเรื่อง และระดับความยากที่เป็นมิตรกับเกมเมอร์ทั่วไปครับ เพิ่มเติมคือ Competitive Content ที่ระบบการคิดคะแนนเริ่มมีความละเอียดมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้เล่นหาวิธีเก็บคะแนนให้ได้สูงๆ เพื่อแข่งขันไต่อันดับใน Leaderboard ของเกมนั่นเอง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเกมจากชาติไหนก็ตาม ทุกเกมยังมีรายละเอียดและจุดเด่นแยกย่อยแตกต่างกันไป การใช้เวลาและการเปิดใจเพื่อทำความเข้าใจ จะช่วยให้คุณสามารถปรับตัวกับสิ่งแปลกใหม่ และสนุกกับเกมได้อย่างสนุกสนานมากยิ่งขึ้นครับ

สุดท้ายนี้หลายๆ คน อาจจะสงสัยว่า "เกมแนวยานยิงมันก็โบราณแล้ว จะซื้อมาเล่นทำไม ราคาตั้ง 3xx-5xx กว่าบาท แต่เล่นได้แค่แป๊บเดียวเดี๋ยวก็จบ" สำหรับผมนั้นตอบง่ายมากครับ เพราะเกมแนวนี้มีความพิเศษคือ สามารถนำกลับมาเล่นซ้ำได้เรื่อยๆ ไม่มีวันเบื่อ ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวไปแล้วข้างบน คล้ายๆ กับเกมแนวดนตรีหรือเกมต่อสู้นั่นเอง ซึ่งด้วยความที่สามารถเล่นซ้ำได้เรื่อยๆ นี่แหละ ทำให้มันเล่นได้คุ้มทุนยิ่งกว่าเกมระดับ AAA ราคาหลักพันที่เล่นจบแค่รอบเดียวแล้วเลิกเลยเสียอีก สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ