12 พฤศจิกายน 2565

บันทึกการเดินทางจาก ฟุกุโอะกะ สู่ กรุงเทพ ด้วยเครื่อง Cessna C550 Citation II (FlightGear)

สวัสดีครับ แอดมินเอครับผม ' w')/

ถ้าใครที่เคยติดตามแอดมินมาตั้งแต่สมัยเว็บบอร์ด Thai Mirumo Fans เวอร์ชั่นแรก (ที่เป็นโฮสต์ของ BBZNET/PukPik ก่อนที่จะย้ายไปยัง Thai Forum/Forumotion) คงจะจำกันได้นะครับกับกระทู้รวมภาพการเดินทางด้วยเครื่องบินผ่านโปรแกรมจำลองการบิน FS2004 ซึ่งในตอนนั้นแอดมินเคยโพสต์เอาไว้ 2 ไฟล์ทด้วยกันคือ สุวรรณภูมิ->หาดใหญ่ ด้วยเครื่อง Airbus A330 และ สุวรรณภูมิ->น่าน ด้วยเครื่อง Cessna 208B Grand Caravan ซึ่งสาเหตุที่โพสต์ก็ไม่มีอะไรมากครับ แค่อยากจะโชว์ให้เห็นว่าอยู่บ้านก็เดินทางได้เหมือนกันนะ ^_^

และผ่านมา 10 ปี ณ ปัจจุบัน ไม่รู้นึกยังไงถึงเกิดอยากกลับมาเล่น Flight Simulator อีกครั้ง แต่พอได้เห็นราคาของ FS ภาคใหม่ล่าสุด 2020 แล้ว แอดมินถึงกับยอมแพ้เพราะราคาตั้ง สองพันกว่าบาท!! >﹏< นี่คือยังไม่รวมพวก DLC กับ Add-on แบบเสียเงินอีกนะ (ถ้าเป็นเครื่องบินที่เสียเงินซื้อจะมีระบบนำร่องและรายละเอียดดีกว่าเครื่องฟรี) ถ้ารวมราคาพวกนี้ด้วยก็เกือบๆ 4 พันกว่าบาทเลยจ้า แอดมินจึงไปหาโปรแกรมทางเลือกอย่าง FlightGear แทน เพราะโปรแกรมนี้ทำได้เหมือนกับ MSFS แทบทุกอย่าง แถมยัง "ฟรี" หมดทุกอย่างจริงๆ ทั้งตัวโปรแกรมหลัก เครื่องบินและ Add-on ที่สำคัญเครื่องบินบางรุ่นอย่าง A320 หรือ Citation II มีระบบนำร่องที่ใช้งานได้จริงและเก็บรายละเอียดได้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบไม่แพ้เครื่องเสียเงินของ MSFS เลยครับ!

และแน่นอนว่าคราวนี้ก็เป็นบันทึกการเดินทางด้วยโปรแกรม FlightGear แล้วครับ!

ย้อนความกันสักเล็กน้อย: ความจริงผมเคยเล่น FlightGear มาตั้งแต่เวอร์ชั่น 1.0.0 เมื่อปี 2008 แล้วล่ะครับ แต่พอหลังจากที่หา Microsoft Flight Simulator มาเล่นได้ราวๆ 1 ปีให้หลัง ก็เปลี่ยนมาเล่น MSFS เป็นการถาวรแทน เพราะ FlightGear ในตอนนั้นยังสู้ FSX ไม่ได้เลยจริงๆ สู้ไม่ได้แม้กระทั่ง FS2004 ที่เป็นเวอร์ชั่นเก่ากว่า แต่ตอนนี้ FlightGear พัฒนาไปไกลแล้วครับ แม้อาจจะยังไม่เท่า FS2020 แต่ก็ถือว่าดูดีกว่าในยุคแรกพอสมควร

สำหรับเที่ยวบินในครั้งนี้จะเป็นการเดินทางจาก ฟุกุโอะกะ สู่ กรุงเทพ-ดอนเมือง ด้วยเครื่อง Cessna 550 "Citation II" เครื่องเจ็ตขนาดเล็กที่แสนจะขับง่ายครับ ผมว่ามันขับง่ายจริงๆ นะ หากใครที่ขับ Cessna 172 หรือ 182 เป็นอยู่แล้วจะทำความคุ้นเคยกับเครื่องรุ่นนี้ได้ไม่ยากเลยล่ะ เพราะแผงควบคุมและระบบต่างๆ คล้ายกันแทบทุกอย่าง (ก็มันเป็นของค่าย Cessna เหมือนกันนี่เนอะ ^_^)

เอาล่ะ ก่อนอื่นก็ต้องทำการตรวจเช็คสภาพรอบตัวเครื่องกันก่อน อันเป็นขั้นตอนแรกของ Checklist ในเครื่องบินแทบทุกลำ




หลังจากที่เช็คความพร้อมเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาขึ้นเครื่องกันแล้วครับ ห้องโดยสารหรูหราใช้ได้เลยนะ



ห้องนักบินของ Citation II


และหลังจากที่ติดเครื่องเรียบร้อยแล้ว ก็เรียกใช้บริการรถดันเครื่องออกจากหลุมจอด


หลังจากนั้นก็ได้เวลาวิ่งไปตามทางแท็กซี่เวย์ที่เป็นเส้นสีเหลืองเพื่อไปยังรันเวย์ครับ


เตรียมรอสัญญาณนำเครื่องขึ้นจาก ATC (หอควบคุมการบิน)


และหลังจากที่นำเครื่องขึ้นแล้ว ก็บินในระดับความสูงประมาณ 1,000 ft ต่อไปอีกเล็กน้อยเพื่อทำความเร็วให้ถึง 220 น็อต ก่อนที่จะเริ่มเปิดระบบ Autopilot (AP) เพื่อเริ่มการบินไปตามเส้นทางบิน และไต่ระดับการบินขึ้นไปยัง 42,000 ft ครับ


ที่ความสูง 10,000 ft


และนี่คือความสูง 42,000 ft อันเป็นระดับเพดานบินในครั้งนี้ครับ


และหลังจากที่บินมาได้ประมาณ 3 ชั่วโมง ในที่สุดก็มาถึงจุดลดระดับหรือ Top of Descent (TOD) แล้วครับ ได้เวลาลดระดับแล้ว


นี่คือกรุงเทพในมุมสูงครับ! ช่วงที่บินมาทาง ATC สั่งให้ลงจอดด้วยรันเวย์ตามทิศเหนือ ก็เลยได้มีโอกาสเก็บภาพเหล่านี้มาฝากกัน!!



และพอบินจนเข้าใกล้กับสนามบินแล้ว เครื่องก็ค่อยๆ ร่อนลงไปตามคลื่น Glideslope ของระบบ ILS ครับ


แต่พอใกล้ถึงพื้นแล้ว อันนี้ต้องควบคุมเองนะครับ เพราะเครื่องนี้ไม่มีระบบ Autoland โดยระบบ AP จะตัดการทำงานเองที่ความสูงต่ำกว่า 500 ft


ถึงดอนเมืองแล้วคร๊าบ!!


และก่อนจากกัน ขอเก็บภาพน้อง Citation II ณ สนามบินดอนเมืองซะนิดหนึ่งนะ อิอิ (*^_^*)


จบเรียบร้อยแล้วครับ ถ้าใครสนใจอยากจะลองบินดูมั้ง ก็เชิญลองโหลดมาเล่นได้ที่ https://www.flightgear.org/ นะครับ ย้ำว่าฟรี!